บทบาทของมุสลิมชีอะห์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มุสลิมชีอะห์ ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงภาพของกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิต,
การแต่งกาย, อาหารการกิน, การพูดจาการทักทาย ฯ ที่แตกต่างจากคนไทยทั่วไป บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มชนมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาเป็นอย่างมาก
เป็นกลุ่มชนที่มีการให้ความสำคัญและแสดงออกอย่างเปิดเผยในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา
ฯลฯ เนื่องมาจากรูปลักษณ์ภายนอกที่คนทั่วไปนั้นได้สัมผัสและมองเห็น แต่ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่กลุ่มชนนี้ได้ทำคุณประโยชน์ไว้ให้กับแผ่นดินสยาม
ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตนั้นกลุ่มชนมุสลิมชีอะห์นี่เองที่มีส่วนช่วยในการรักษาเอกราชของแผ่นดินสยามเอาไว้
มีส่วนช่วยในการบริหารงานราชการแผ่นดิน มีส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาอารยะประเทศในเกือบทุกด้าน
ด้านการทูต ด้านการค้าขาย เป็นต้น
บทบาทที่สำคัญนี้เองที่เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนมุสลิมชีอะห์นั้นมีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน
ต่อพระมหากษัตริย์ และต่อสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีบทบาทอยู่
ทำหน้าที่ที่สำคัญระดับประเทศและดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของพวกเขา
ขณะที่เราทำการค้นคว้า ศึกษาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมชีอะห์กับพระมหากษัตริย์และราชสำนัก
ไม่ว่าจากเอกสารทางประวัติศาสตร์
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่หรือจากข้อมูลที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต
เราก็จะพบกับชื่อของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ท่านนั้นเป็นทั้งนักปราชญ์ นักการศาสนา
พ่อค้าวานิช นักรบ ข้าราชการ และปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งแผ่นดินสยาม ชื่อของท่านคือ
เฉกอะห์หมัด กุมมี เป็นชาวเปอร์เซีย(อิหร่านในปัจจุบัน)
ที่เดินทางมาพร้อมกับท่านมูฮัมหมัดสะอี๊ด ผู้เป็นน้องชายและบรรดาผู้ติดตาม มายังแผ่นดินสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
และวางหลักปักฐาน มีครอบครัว มีลูกหลานสืบสกุล ทำหน้าที่เป็นประชาชนที่ดี
รับใช้แผ่นดินสยามสืบต่อกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ฉะนั้นเป็นการดีที่จะมาทำความรู้จักกับประวัติโดยสังเขปของท่านเฉกอะห์หมัด
ปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งแผ่นดินสยาม
เฉกอะห์หมัด
ปฐมจุฬาราชมนตรี และผู้นำอิสลามนิกายชีอะห์มายังแผ่นดินสยาม
ปีพุทธศักราช ๒๑๔๕ ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรือสำเภาวานิชของพ่อค้าสองพี่น้องชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ได้เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา พ่อค้าผู้พี่ชื่อ เฉกอะห์หมัด น้องชายชื่อ มูฮัมหมัดสะอี๊ด ได้พาบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระมหากษัตริย์ แล้วได้ตั้งบ้านเรือน อยู่ ณ ตำบลท่ากายี ทำการค้าขายเครื่องหอม แพรพรรณ และนำสินค้าไทยบรรทุกสำเภาไปค้าขายยังต่างแดน จนมีฐานะมั่งคั่ง ได้สมรสกับสุภาพสตรีไทยชื่อ "เชย" มีบุตร ๒ คน และธิดา ๑ คน คือ 1. บุตรชื่อ ชื่น เป็นพระยาอภัยราชา (ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) 2. บุตรชื่อ ชม เป็นไข้พิษถึงแก่กรรมแต่ยังหนุ่ม 3. ธิดาชื่อ ชี เป็นพระสนมในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ไม่มีพระองค์เจ้า) ท่านเฉกอะห์หมัดจึงตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่นั้นมา ส่วนน้องชายท่านมูฮัมหมัดสะอี๊ด อยู่ได้ไม่นานก็กลับไปยังบ้านเกิดและมิได้กลับเข้ามาอีก
ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะห์หมัดผู้มีความชำนาญในด้านพานิชกิจการค้า
ได้ช่วยราชการแผ่นดินโดยร่วมกับเจ้าพระยาพระคลังปรับปรุงราชการกรมท่า
ทำให้งานเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก โดยเฉพาะงานด้านการค้าขายกับพวกพ่อค้านานาประเทศหลายชาติหลายภาษา
เช่น โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น อินเดีย จีน เป็นต้น
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ
แด่ท่านพระยาพระคลังเสนาบดีกรมท่า ดังนี้
“แขกเฉกอะห์หมัดมหาเศรษฐีผู้นี้เขามีน้ำใจสวามิภักดิ์ต่อราชการของคนไทยมาก
โดยสุจริตธรรมแท้ ๆ และเขาได้เป็นที่ปรึกษาหารือราชการกรมท่าของเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีด้วยมากแทบจะทุกราย
ทั้งเขาได้เป็นผู้ช่วยแนะนำให้เสนาบดีกระทำราชการต่างประเทศถูกต้องตามทำนองนานาประเทศมาก
หากกระทำให้รั้วงาน ราชการในกรมท่าเป็นที่เรียบร้อยเจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อนหลายพันเท่า
เราเห็นว่าแขกเฉกอะห์หมัดผู้นี้มีความชอบต่อราชการแผ่นดินไทยเรามากหนักหนา จะหาผู้ใดเสมอเขาไม่ได้ในเวลานี้
เราเห็นสมควรที่จะอนุญาตให้โอกาสแก่แขกเฉกอะห์หมัดผู้นี้ ให้มีเวลาเข้ามาหาเราได้ในท้องพระโรงของเรา”
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งให้เป็น พระยาเฉกอะห์หมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวาและจุฬาราชมนตรี
ซึ่งนับได้ว่าท่านเฉกอะห์หมัดเป็น ปฐมจุฬาราชมนตรีของชาวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท้ายคู
ซึ่งต่อมาท่านเฉกอะห์หมัดได้สร้างศาสนสถานมัสยิดนิกายชีอะห์ อิสนาอะชะรี ที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกว่า
กุฏิเจ้าเซ็น หรือ กุฏิทอง และยังจัดที่ดินส่วนหนึ่งเป็นสุสาน ในภายหลังหมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่า
บ้านแขกกุฏิเจ้าเซ็น และสุสานนี้ได้ชื่อว่า “ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู”
เมื่อเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรมท่าถึงแก่อสัญกรรม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเฉกอะห์หมัดรัตนราชเศรษฐี
เป็นเสนาบดีกรมท่ากลางอีกตำแหน่งหนึ่ง
ต่อมาพ่อค้าชาวญี่ปุ่นซึ่งใช้เรือสำเภาเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อการจลาจล
ยกพวกเข้าโจมตีพระนคร มีแผนการจะจับตัวสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่ไม่สำเร็จ
เนื่องจากเวลานั้นเสด็จไปประทับบอก พระไตรปิฎกแก่พระภิกษุวัดประดู่โรงธรรมอยู่ ณ
พระที่นั่งจอมทอง ก่อนที่จลาจลจะลุกลามใหญ่โต ออกญามหาอำมาตย์
เชื้อพระวงศ์ในแผ่นดินก่อนได้ร่วมกับพระยาเฉกอะห์หมัดฯ เกณฑ์ไพร่พล ทั้ง ไทย จีน
และแขก เข้าปราบจลาจลได้สำเร็จทันท่วงที
พวกญี่ปุ่นที่เหลือหลบหนีออกนอกพระนครและลงสำเภาซึ่งทอดสมออยู่ที่ปากแม่น้ำเบี้ย
บางกะจะหน้าวัดพนัญเชิง แล่นออกปากน้ำเจ้าพระยาไป
พระยาเฉกอะห์หมัดรัตนเศรษฐีได้คุมทหารเข้ารักษาพระราชวังไว้
แล้วจัดเรือพระที่นั่งไปรับเสด็จพระเจ้า อยู่หัวกลับมา
ด้วยความจงรักภักดีเป็นที่ประจักษ์และด้วยความสามารถที่ปรากฏแก่พระเนตรพระกรรณมาช้านาน
จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยา(ออกญา) เฉกอะห์หมัดฯ
ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเฉกอะห์หมัดรัตนาธิบดีที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ
ศักดินาหมื่นไร่ และเลื่อนออกญามหาอำมาตย์ขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม
อัครมหาเสนาบดีฝ่ายใต้ พร้อมกันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนนายชื่น บุตรชายเจ้าพระยาเฉกอะหมัดฯ
ขึ้นเป็นพระยา (ออกญา) วรเชษภักดี เจ้ากรมท่าขวาในครั้งนั้นด้วย
เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีรับราชการสืบมาอีกสองรัชกาลจนกระทั่งเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ซึ่งได้เป็นอัครมหาเสนาบดีร่วมกันมาแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม
ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓)
จึงนับได้ว่าท่านเฉกอะห์หมัดได้พำนักในแผ่นดินสยามยาวนานถึงหกแผ่นดิน
เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีดำรงตำแหน่งสมุหนายกจนอายุได้
๘๗ปี พระเจ้าปราสาททองทรงพระราชดำริเห็นว่าท่านชราภาพลงมากแล้วจึงโปรดเกล้า ฯ
ให้พ้นตำแหน่งสมุหนายก และเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกจางวางกรมมหาดไทย
อันเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาการปกครองแผ่นดิน และเลื่อนพระยาบวรเชษฐภักดี
(ชื่น)ผู้บุตร เป็นเจ้าพระยาอภัยราชาที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือแทน
เจ้าพระยาบวรราชนายกครองตำแหน่งได้ราวหนึ่งปีก็ป่วยหนัก
สมเด็จพระเจ้าประสาททองได้เสด็จไปเยี่ยม เจ้าพระยาบวรราชนายกจึงกราบบังคมทูลฝากธิดา
คือ ท่านชี ให้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระราชวัง
สมเด็จพระเจ้าประสาททองได้ทรงรับเอาท่านชีไปเป็นสนม
เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะห์หมัด) ถึงแก่อสัญกรรมในปีถัดไป พ.ศ.๒๑๗๔ (จ.ศ.๙๙๓) อายุได้ ๘๘ ปี ศพของท่านฝังอยู่ที่ ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะห์หมัด) เป็นต้นตระกูลขุนนางไทยที่เก่าแก่สืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหลายสกุล บุตรหลานได้รับราชการสนองพระเดช พระคุณประเทศชาติ มีชื่อเสียงและบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยตลอดมา ทุกยุคทุกสมัยมิได้ขาดสายจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๔๐๐ กว่าปี บุตรหลานได้แยกสายออกเป็นตระกูลใหญ่ ๆ ทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลามมากมายหลายตระกูล ได้แก่ บุนนาค บุรานนท์ จาติกรัตน์ ศุภมิตร ศรีเพ็ญ วสุธาร วิชยาภัย ภานุวงศ์ อะหะหมัดจุฬา อากาหยี่ จุฬารัตน์ ช่วงรัศมี ชิตานุวัตร สุวกูล เป็นต้น
(ข้อมูลอ้างอิงจาก ชมรมสายสกุลบุญนาค;
เจ้าพระยาบวรราชนายก)