วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 12:49 น.
ลำดับพระยาจุฬาราชมนตรีแห่งแผ่นดินสยาม

ลำดับพระยาจุฬาราชมนตรีแห่งแผ่นดินสยาม

ลำดับพระยาจุฬาราชมนตรีแห่งแผ่นดินสยาม

กรุงศรีอยุธยา

1. เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉก อะห์หมัด) ดำรงตำแหน่ง จุฬาราชมนตรีในรัชสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2145 - 2170) และต่อมาถึงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2173-2198)                                                           

2. พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199 - 2225)                                                                                                 

3. พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) ในสายสกุลของท่านเฉก อะหมัด ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301)                                              

4. พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุตรเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ)

กรุงรัตนโกสินทร์

5. พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว - มุฮัมมัดมะห์ซูม)  เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช                                                                      

6. พระยาจุฬาราชมนตรี (อกาหยี่) เป็นน้องชายของจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย                                                                                              

7. พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน-มุฮัมมัดกาซีม) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                                          

8. พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย-มุฮัมมัดบาเกรฺ) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (อกาหยี่) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                                                  

9. พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม-มุฮัมมัดตะกี) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                                                                  

10. พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน-กุลามฮูเซ็น) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                                                                        

11. พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล "อหะหมัดจุฬา" เมื่อวันที่ 27 กรกฎาค2456

12. พระยาจุฬาราชมนตรี (เกษม อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                                                                            

13. พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                                                                   14. จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซัมมุดดีน มุดตาฟา) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ.2488 - 2490)

15. จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ (อิสมาแอล ยะห์ยาวี) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ.2490 - 2515)

16. จุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะหมัด (อะหมัด บิน มะหะหมัด) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ.2515 - 2540)                                                                  

17. จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ (อะหมัด มะห์หมูดซันกอรี) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ.2540 - 2553) โดยได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ และได้รับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 เป็นคนแรก          

18. จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช (พ.ศ. 2553ปัจจุบัน) โดยได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ


กล่าวคือ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะห์หมัด ที่นับถือนิกายชีอะห์มาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งโดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายซุนหนี่ซึ่งเป็นกลุ่มชนมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๙๑ รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ดีหลังจากที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายนี้ว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ให้คำปรึกษาและความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

2. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม

3. ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา

4. ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

5.เป็นประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

กฎหมายฉบับนี้ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะโดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจำหวัดและกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนั้นเป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่นาน นายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้ถึงแก่อนิจกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อมา คือ นายสวาสดิ์ สุมาลย์ศักดิ์ ขณะมีอายุได้ ๘๒ ปีเศษ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ โดยดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคมพ.ศ.๒๕๕๓ และวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศได้มีมติให้ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘ เมื่อวันที่ ๖มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕3

 

Scroll To Top