วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 12:44 น.
กุฎีหลวง หรือกุฎีเจ้าเซ็น : “กะดี” แรกของมุสลิมนิกายชีอะห์ในกรุงรัตนโกสินทร์

กุฎีหลวง หรือกุฎีเจ้าเซ็น : “กะดี” แรกของมุสลิมนิกายชีอะห์ในกรุงรัตนโกสินทร์


กุฎีหลวง หรือกุฎีเจ้าเซ็น : “กะดี” แรกของมุสลิมนิกายชีอะห์ในกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวปี พ.ศ. 2328 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ ให้ขุนป้องพลขันธ์(ก้อนแก้ว)ขุนนางในกรุงธนบุรีที่สืบเชื้อสายแต่ออกญาบวรราชนายก(เฉกอหะหมัด) ชาวเปอร์เซียจากกรุงเก่าให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) พร้อมพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนและสร้างศาสนสถานของตนขึ้นเป็นครั้งแรกแล้ว  พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ได้จัดการเกี่ยวกับแบบแผนพิธีกรรมในศาสนาขึ้นอีกครั้งในเวลานั้น ชุมชนแขกเจ้าเซ็น หรือมุสลิมนิกายชีอะห์ เริ่มสร้างศาสนสถานของตนเป็นการถาวรขึ้นทางฝั่ง ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) โดย พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ได้รับพระราชทานที่ดิน ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรีในระยะแรกเริ่มของกรุงรัตนโกสินทร์ (หลังปี พ.ศ. 2325) และเป็นเวลาที่พระองค์ทรงเริ่มปฏิรูปบ้านเมืองอีกครั้งหลังจากกรุงธนบุรีสิ้นสุดลง โดยนำแบบแผนการปกครองของราชสำนักอยุธยากลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

การนั้นมีผลให้ข้าราชการขุนนางเดิมครั้งกรุงศรีอยุธยาส่วนหนึ่งมีโอกาสกลับเข้ารับใช้งานราชสำนักอีกครั้งหนึ่ง  รวมถึงพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ที่เคยรับราชการตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าและสืบเนื่องงานต่อมาในกรุงธนบุรี  ได้รับความไว้วางพระทัยให้เข้ารับราชการต่อมาในฝ่ายงานพระคลัง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คุมการค้าฝ่ายกรมท่าขวา อันหมายถึงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย และเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ชุมชน แขกเจ้าเซ็นหรือมุสลิมนิกายชีอะห์มีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเป็นลำดับนับแต่ได้รับพระราชทานที่ดินให้สร้างศาสนสถานของตนในนาม กุฎีเจ้าเซ็น เป็นต้นมา 

กุฎีเจ้าเซ็น ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือวัดอรุณฯ บริเวณปากคลองมอญแห่งนี้ ถูกเรียกขานกันในหลายชื่อ เช่น กุฎีหลวง กุฎีปากคลองมอญ กุฎีเจ้าเซ็น และกุฎีบน หรือบางครั้งยังเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “บ้านบน”  ก็มี

กุฎีหลวง เป็นการเรียกตามที่ศาสนสถานดังกล่าวสร้างบนที่ดินที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1)  ส่วนที่เรียกว่า กุฎีปากคลองมอญ ถูกเรียกจากทำเลที่ตั้งที่อยู่บริเวณปากคลองมอญ โดยหันหน้าประชิดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสำคัญ และเรียกว่า กุฎีบน หรือบ้านบน ที่บอกถึงที่ตั้งของกุฎีที่อยู่ตำแหน่งเหนือกุฎีแห่งอื่นที่สร้างต่อมาภายหลัง อย่างไรก็ตาม กุฎีแห่งแรกที่เกิดขึ้นใหม่หลังปี พ.ศ. 2328 เป็นรากฐานสำคัญของการตั้งชุมชนของมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือ “แขกเจ้าเซ็น” ในเวลานั้น และสืบต่อมาอีกกว่า 150 ปี จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  และในปี พ.ศ. 2486 จากการที่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เวนคืนที่ดินของชุมชนแขกเจ้าเซ็นที่กุฎีหลวง โดยย้ายชุมชนไปยังที่ดินที่ทางราชการจัดสรรชดเชยให้ อยู่บนแนวถนนพรานนก (ปัจจุบันอยู่ในแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย) อยู่อาศัยสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยชุมชนได้ปฎิสังขรณ์ศาสนสถานหลังใหม่ขึ้นทดแทนหลังเดิม  ทั้งยังคงรักษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเอกลักษณ์ในความเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานสืบไป

   ลำดับตำแหน่งผู้ปกครองกุฎีหลวง หรือกุฎีเจ้าเซ็นจากอดีตถึงปัจจุบัน

               พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว)                                          ในสมัยรัชกาลที่ 1

               พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน)                                               ในสมัยรัชกาลที่ 2-3

               พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม)                                                 ในสมัยรัชกาลที่ 3-4

               พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน)                                                   ในสมัยรัชกาลที่ 5

               พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา)                            ในสมัยรัชกาลที่ 6

               พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อหะหมัดจุฬา)                            ในสมัยรัชกาลที่ 5-6

               พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)                              ในสมัยรัชกาลที่ 7

               ฮัจญีกระแส  จุฬารัตน์ บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน)         ในสมัยรัชกาลที่ 9

               นายสถาพร  สุขสำราญ                                                        ในสมัยรัชกาลที่ 9

               เชคมุฮัมหมัด อาลี  สุขสำราญ (นายเสถียรภาพ  สุขสำราญ) ดำรงตำแหน่งอิหม่ามในสมัยปัจจุบัน 

 


Scroll To Top